การเตรียมตัว และข้อควรระวังในการฝึกโยคะ

การเตรียมตัว และข้อควรระวังในการฝึกโยคะ

เป็นที่รู้กันดีว่าการฝึกโยคะส่งผลดีกับผู้ฝึกได้อย่างมากมายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้มีผู้นำโยคะไปใช้ในหลายๆ วัตถุประสงค์ อย่างเช่นใช้ช่วยยืดหยุ่นและผ่อนคลายกลามเนื้อสำหรับผู้ออกกำลังกาย ใช้ช่วยบำบัดอาการป่วย หรือใช้ในด้านความงาม ทำให้ผิวพรรณผ่องใส มีรูปร่างดี
เดี๋ยวนี้การจะฝึกโยคะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำได้ง่ายและแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เนื่องจากข้อมูลนั้นมีเยอะแยะมากมายตามอินเทอร์เน็ต หรือบางคนก็อาจซื้อหนังสือคู่มือโยคะมาอ่านและฝึกเองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม การฝึกโยคะก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ถ้าเราฝึกไม่ถูกวิธีนะคะ วันนี้เราจึงมีข้อควรระวังมาให้สาวๆ ที่สนใจฝึกได้อ่านและลองนำไปปฏิบัติค่ะ
การเตรียมตัวก่อนการฝึกโยคะ
1.  สถานที่ ควรอยู่ในที่ เงียบสงบ และมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะการฝึกโยคะนั้นต้องการใช้สมาธิสูงและอากาศที่บริสุทธิ์ จะช่วยลดการอ่อนเพลีย อันเกิดจากการปฏิบัติโยคะได้เป็นอย่างดี
2. เวลา  สามารถทำได้ทุกช่วงเวลา แต่ควรปฏิบัติตอนท้องว่าง หรือก่อนรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หรือปฏิบัติหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง
3. อุปกรณ์ ควรมีเสื่อโยคะที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี เพื่อไว้รองรับร่างกายเวลาฝึก และช่วยลดการเสียดสี อุบัติเหตุ หรืออันตรายที่อาจจะเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายขณะฝึก
4. ชำระร่างกายให้สะอาดสดชื่นก่อนการฝึก
5. ควรสวมเสื้อผ้าให้กระชับร่างกาย เนื้อผ้ามีความยืดหยุ่น เบาสบาย แห้งง่าย และระบายอากาศดี

การฝึกโยคะให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ

- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ คนที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฝึก จริงอยู่ที่โยคะถูกนำมาใช้ควบคู่กับบำบัดโรคหลายๆ อย่าง แต่ในท่าแต่ละท่าก็มีบางจุดที่อาจเป็นอันตรายกับโรคบางโรคได้ เช่น คนที่มีความดันโลหิตสูงและต่ำไม่ควรทำท่าก้มศีรษะ คนที่มีปัญหาที่คอจะไม่สามารถแหงนและบิดคอมากๆ ได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรให้แพทย์ยืนยันก่อนว่าสามารถฝึกได้ (เอาหนังสือโยคะท่าที่อยากจะฝึกไปให้ดูเลยนะคะ) และควรฝึกโดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

- ควรฝึกในห้องโล่ง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เกะกะ และไม่มีเสียงรบกวน เลือกสถานที่ๆ ทำให้จิตใจเราสงบผ่อนคลายที่สุด หลีกเลี่ยงที่ๆ มีเสียงดังเพราะจะรบกวนสมาธิ ส่วนอุปกรณ์ในการฝึกนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม นอกจากพวกเสื่อโยคะต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วถ้ามีพรมหรือเสื่อก็ใช้แทนได้

- ไม่ควรฝึกหลังอาหารทันที ก่อนฝึกควรเว้นช่วงอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการจุก และถ้าเป็นไปได้ควรขับถ่ายก่อน นอกจากนั้นควรเลือกเสื้อผ้าสวมใส่สบายพอดีตัว ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป และหลังจากฝึก ควรเว้นช่วงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะทานอาหารหนักได้

- ระลึกไว้เสมอว่า หัวใจสำคัญของโยคะคือการผ่อนคลาย แม้หลายๆ คนอาจฝึกโยคะเพื่อต้องการมีรูปร่างสมส่วน หรือฝึกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่ก็อย่ามุ่งหวังที่ผลเหล่านั้นมากจนเกินไป ระหว่างฝึกควรปล่อยจิตใจให้สบาย เป็นสมาธิ ให้ร่างกายรู้สึกว่าผ่อนคลายที่สุด เมื่อเป็นดังนั้นได้แล้ว ผลที่ตามมาก็จะดีเอง

- ทำความเข้าใจในแต่ละท่าที่จะฝึกให้ดีก่อนนำมาปฏิบัติ ท่าโยคะเดี๋ยวนี้หาได้ง่ายตามอินเทอร์เน็ต แต่อยากเตือนว่า อย่าดูท่าทางแค่ผ่านๆ แล้วรีบทำตามในทันที ควรศึกษาอ่านข้อแนะนำ คำเตือนให้ดีก่อนว่าแต่ละท่าควรปฏิบัติอย่างไร หายใจอย่างไร และให้ความสำคัญกับคำเตือนในแต่ละท่า ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้
- ผู้ฝึกใหม่ ตอนแรกไม่ต้องกังวลกับการหายใจ ให้ฝึกท่าก่อน การหายใจแบบโยคะจะไม่เหมือนการหายใจแบบปกติ คนฝึกใหม่หลายๆ คนอาจไม่ชินและเป็นกังวลมากไประหว่างฝึกจนบางทีก็ทำท่าผิดพลาด ผู้เขียนแนะนำให้ทำใจให้สบาย หายใจปกติไปก่อนถ้ายังทำแบบโยคะไม่ได้ ฝึกท่าแต่ละท่าให้เชี่ยวชาญเสียก่อนแล้วค่อยมาดูเรื่องการหายใจ และแนะนำว่า การหายใจ ควรหายใจเข้าออกทางจมูก ไม่ต้องอ้าปากสูดหายใจ ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องหายใจทางปากเพราะรู้สึกหายใจไม่ทัน แสดงว่าคุณฝืนมากเกินไปแล้ว ให้ค่อยๆ คลายจากท่าที่กำลังฝึกแล้วมาอยู่ในท่าพัก
- เริ่มจากท่าง่ายไปท่ายาก อย่าก้าวกระโดด บางคนอาจใจร้อนอยากทำท่ายากให้ได้เร็วๆ แต่ถ้าร่างกายยังไม่พร้อมและเราไม่ได้ศึกษามาดีพอ ก็อาจเกิดอาการบาดเจ็บได้
- อย่าเกร็ง อย่ารีบร้อน หัวใจสำคัญในการฝึกโยคะคือการทำให้ร่างกายผ่อนคลายที่สุด ท่าแต่ละท่าที่ฝึกผู้ฝึกควรจะสามารถทำได้อย่างสบายๆ เมื่อไหร่ที่ปฏิบัติโยคะแล้วรู้สึกอึดอัด เจ็บปวด ให้ค่อยๆ คลายตัวมาอยู่ในท่าพัก ส่วนท่าไหนรู้สึกว่าต้องฝืน ไม่อย่างนั้นจะทำไม่ได้ก็ไม่ควรฝึก หรือหากอยากฝึกควรให้ครูฝึกแนะนำว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร และที่สำคัญ แต่ละท่าควรปฏิบัติอย่างช้าๆ อย่ากระตุก รีบเร่ง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวได้เจ็บตัวแน่ๆ ค่ะ
- ห้ามฝืนร่างกายตัวเอง ในท่าบางท่าคุณอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ครูฝึกทำ เช่น ท่าที่ต้องก้มตัวเอามือแตะพื้น แตะปลายเท้า ก็ไม่ควรฝืนให้ตัวเองแตะให้ได้ สิ่งที่คุณควรจะทำคือทำให้มากสุดเท่าที่เราสามารถทำได้ โดยที่ร่างกายยังรู้สึกผ่อนคลายอยู่
- อย่ามองถึงผลที่อยากได้ แต่มองที่ความคืบหน้า การฝึกโยคะนั้นถ้าปฏิบัติอย่างถูกวิธี ยืนยันได้ว่าต้องได้ผลดีกับร่างกายอย่างแน่นอน (ปฏิบัติทุกวันอย่างต่อเนื่องสัก 1 เดือนก็เห็นผลแล้วค่ะ) เพียงแต่ผลที่ได้อาจช้าไม่ตรงกับเป้าหมายที่หวังไว้ ใครที่กำลังรู้สึกอย่างนี้อยากให้ปรับมุมมองเสียใหม่ และดูความแตกต่างระหว่างก่อนฝึกจนถึงปัจจุบัน เชื่อได้เลยว่าคุณจะต้องเห็นความแตกต่างค่ะ มองแบบนี้ดูมีกำลังใจขึ้นกว่าเดิมเยอะ